SEARCH

Crime Track / Wassayos Ngamkhamถึงเวลาสีกากีไทยต้องเปลี่ยนแปลง สู่ศาสตร์ใหม่วงการตำรวจโลก ด้วย “โรงเรียนตำรวจนอกเวลา” ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่วันใดวันหนึ่งตำรวจไทยจะต้องก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ และหากขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าอุ้ยอ้าย ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการถอยหลังเข้าคลอง นั่นทำให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ต้องออกมายกเครื่องตำรวจด้วยตัวเองโดยไม่รอหลักสูตรที่จะบรรจุใหม่ในโรงเรียนนายร้อย ด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้ โรงเรียนตำรวจนอกเวลา หรือ Extra Learning Police School ให้ตำรวจสอบสวนกลางวนเวียนกันเข้าไปเรียนศาสตร์ต่างๆ ของตำรวจในศตวรรษที่ 21 เขาเชื่อว่าตำรวจที่ผ่านหลักสูตรไปแล้วย่อมทำให้อาชญากรรมเมืองไทยที่กำลังพุ่งปรี๊ดจะลดลงอย่างพิสูจน์ได้ วงการสีกากีรู้กันดีว่า พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ นับเป็นตำรวจคนหนึ่งที่ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าของทฤษฎีของ สตช. และเป็นตำรวจคนเดียวในวงการปทุมวันที่เรียกร้องให้ตำรวจ “กลับหลังหัน” คือเลิกทำทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ ก่อนที่จะทำในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อก้าวเข้าสู่ศาสตร์ตำรวจสมัยใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเขาถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดานักสืบรุ่นเก๋าที่อาศัยศาสตร์ตำรวจแบบเดิมที่เคยทำมาในการแกะรอยคนร้ายเพื่อรวบตัวมาดำเนินคดี แต่อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ก็เดินหน้าจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ ขึ้นมาเพื่อให้ตำรวจในสังกัดวนเวียนกันเข้าไปสัมผัสของศาสตร์ใหม่ที่เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่ตำรวจทั่วโลกเริ่มใช้กันแล้ว ในขณะที่ตำรวจไทยยังคงปิดตาปิดหูไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง “ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้จนถึงในอนาคต ตำรวจเราจะต้องใส่สูท ผมก็กำลังตัดสูทให้ เรารู้ว่าฝนกำลังจะตก ผมก็กำลังหาร่มให้ตำรวจ เรารอจนถึงวันนั้น วันที่เขาเปลี่ยนแปลงกันทั่วโลกคงไม่ได้ เลยเป็นที่มาของ โรงเรียนตำรวจนอกเวลา ที่ผมต้องทำขึ้นเพื่อให้ตำรวจเราเริ่มเปลี่ยนแปลง และทันศาสตร์ใหม่ๆ ของตำรวจโลก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เรียนวันนี้วันหน้าก็ต้องเรียนอยู่ดี แล้วมันจะสายเกินไป” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าว ขณะนั่งอยู่ในโรงเรียนตำรวจนอกเวลาซึ่งเป็นอาคาร 5 ชั้น ที่ประกอบไปด้วยห้องการเรียนรู้ และห้องพักรวมของตำรวจที่เข้ามารับการอบรม เขากล่าวต่อว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสถาบันการศึกษาในสังกัด สตช. ก็อยากที่จะสอนในสิ่งที่ทันสมัย คงไม่มีใครอยากจะสอนในสิ่งที่ล้าสมัย แต่การที่จะบรรจุ หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอะไรมันย่อมมีขั้นตอนมากมาย เพราะฉะนั้นคงจะเปลี่ยนไม่ทันเวลา ทั้งที่ในทุกวันนี้ตำรวจไทย และทั่วโลกมีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากมาย เช่น ค้นพบว่ามูลเหตุของการกระทำผิดไม่ใช่มีสาเหตุปกติอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากสิ่งไม่ปกติด้วย เช่น ความผิดปกติทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์ หรือสติแตก อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีการสอนกันอย่างจริงจังในแวดวงตำรวจ จึงจัดให้มีการเรียนอย่างเร่งด่วนในโรงเรียนตำรวจนอกเวลา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวต่อว่า ตำรวจที่เข้ามาศึกษาจะต้องเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ของตำรวจในโลก เริ่มจาก การศึกษางานของ Mr.William Bratton อดีตผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์ค ลอสเองเจลลิส และบอสตัน ที่สามารถลดอาชญากรรมในเมืองใหญ่ได้ตามคอนเซ็ปต์ “ตำรวจกลับหลังหัน” คือ ให้ตำรวจเปลี่ยนแปลงใหม่ เอาการวิจัยมาใช้ให้มากขึ้น แล้วจะพบว่าสิ่งเก่าๆ ที่ทำมาไม่มีประโยชน์ อาจจะจับคนร้ายได้ แต่ไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม ซึ่งนั่นเท่ากับว่าประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย และยังต้องอยู่กับความหวาดกลัว และหวาดระแวง ยิ่งทำให้ตำรวจไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน “หลายๆ เรื่องเราค้นพบว่า ชาวบ้านตกอยู่ในความหวาดระแวงต่ออาชญากรรม และระแวงตำรวจ ความหวาดระแวงนี้มีผลต่อการลดอาชญากรรมมาก หากเราลดความหวาดระแวงได้ อาชญากรรมก็จะลดลงด้วย” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบว่า ในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อชาวบ้านกลัวคนร้าย ก็ไม่ออกมาดำเนินชีวิตอย่างปกติ เช่น เคยนั่งหน้าบ้านคุยกัน เคยใส่บาตรพระสงฆ์ เคยเดินไปซื้อข้าวของ ตกเย็นก็จูงลูกหลานออกมาเดินเล่น แต่เมื่อเกิดความหวาดระแวงก็ไม่ใช้ชีวิตปกติ ร้านค้าก็ขายของไม่ได้ต้องปิดตัวลง สภาพสังคมก็เปลี่ยวเหงา จึงเป็นช่องทางให้คนร้ายกระทำความผิดได้ง่าย เมื่อก่อเหตุเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีพยาน เพราะชาวบ้านหวาดระแวงทั้งกับคนร้าย และเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจจึงต้องลดความหวาดระแวง ด้วยศาสตร์ใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.สรรพวุฒิ พิพัฒพันธุ์ รองผบช.ก. เป็นอาจารย์ใหญ่ ควบคุมให้ตำรวจที่ได้รับการคัดเลือกหมุนเวียนกันเข้ามาศึกษา ก่อนที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือตำรวจหน่วยงานอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญ และขอความร่วมมือมา เพราะเราไม่ต้องการให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแต่ในหน้ากระดาษ ด้วยเหตุนี้โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน หรือ Community Policing จึงเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว นั่นคือการให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่จะทำให้ความหวาดระแวงของชาวบ้านที่มีต่ออาชญากรรม และตำรวจ นั้นลดลงไป และจะสามารถลดอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ระบุว่า ในโรงเรียนแห่งนี้ตำรวจยังต้องเรียนเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสาร เพราะตำรวจมีปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งการสื่อสารกับประชาชน และสื่อสารกับตำรวจด้วยกันเองนอกจากนี้เรารู้ดีว่าตำรวจส่วนมากจะไม่ค่อยฟังประชาชน ทั้งที่การสื่อสารที่ดีของตำรวจ คือการรับฟังประชาชน ในส่วนนี้จึงถือว่ามีความจำเป็นมาก เพราะต่อไปตำรวจที่เข้ามาเรียนจะต้องออกไปสื่อสารให้ความรู้กับตำรวจ และชาวบ้าน อีกเรื่องที่ต้องเรียนคือเรื่องการสืบสวนสมัยใหม่ คือการค้นหาความจริง ภายใต้กติกาของกฎหมาย รวมไปถึงการซักถามผู้เสียหาย พยาน และผู้กระทำผิด ที่ไม่ละเมิดสิทธิเสีภาพ “ในอดีตเราคิดว่าการสอบสวน คือ การกระทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น เพราะเราเรียกแบบนี้มาเป็นหลัก แต่เราไม่รู้ว่ายังมีศาสตร์อื่นๆ เช่น ตำรวจต้องเข้าใจระบบการทำงานของร่างกาย ระบบการทำงานของจิตใจ การดูลูกตา หรือภาษากาย ต้องดูงานวิจัยต่างๆ ประกอบ ว่าเขาพูดจริงหรือไม่ ที่ผ่านตำรวจอาจจะบังคับขู่เข็ญ ใช้เล่ห์เพทุบาย โดยอ้างว่า เพื่อความสงบสุข ในอดีตก็อาจพอรับได้ แต่ปัจจุบัน ใช้ลูกเล่นต่างๆ ไม่ได้ เพราะมันจะมีผลกระทบที่รุนแรงตามมา” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวและว่า “ถ้าเราไม่เรียนวันนี้ อีก 3 ปี ข้างหน้า เราเอาผู้ต้องหามาคนหนึ่ง อาจเป็นผู้ต้องหาที่ประเทศใดก็แล้วแต่ จากนั้นก็ใช้เล่ห์เพทุบาย อาจเอาเท้าไปแหย่ เอามือไปแหย่ เข้านิดหนึ่ง การแหย่ของคุณก็คือเอาฟืนไปใส่สถานทูตไทยในประเทศเขา เพราะเขาอาจจะมองว่าคุณรังแก เรื่องแบบนี้มันจะมีผลกระทบระหว่างประเทศได้” เขากล่าวต่อไป ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นโดยที่เรามองไม่เห็น แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยบู๊ล้างผลาญ จะกลายเป็นตำรวจยุคใหม่ที่เป็นสุภาพบุรุษมั่นคงในหลักการ ซึ่งจะยั่งยืนมากกว่า และกล้าสู้กับคนร้ายแบบสู้ไม่ถอย ขณะเดียวกันเป็นไปไม่ได้ที่ตำรวจจะไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่เรารีบเปลี่ยนตัวเราจะดีกว่าไปให้คนอื่นเปลี่ยนให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ยังได้นำอดีตตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงตำรวจที่มีฝีมือแต่ถูกไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทำบกพร่องในหน้าที่ มาเป็นวิทยากรให้กับตำรวจที่เข้ามาฝึกอบรมด้วย ทั้งนี้เพื่อชี้ให้ตำรวจได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อเป็นบทเรียนป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เขายังได้วางโครงสร้างให้อาคารแห่งนี้เป็นศูนย์การปฏิบัติเฉพาะในการปราบปรามอาชญากรรมอื่นๆ อีก หรือที่รู้จักกันนามของ Serious Crime Suppression Centre ประกอบไปด้วย Special Security Unit (หน่วยความมั่นคงพิเศษ) Anti Human Trafficking (หน่วยต่อต้านการค้ามนุษย์) Prevent Extreme Violence Crime Unit (หน่วยต่อต้านอาชญากรรมร้ายแรงแบบสุดขั้ว) ซึ่งศูนย์ต่างๆ เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก ยูเอ็น และอีกหลายประเทศ ซึ่งจะเปิดการทำงานอย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้.   Published caption:: Pongpat: Welcomes science

Your recent history

  • Recently searched

    • Recently viewed links

      Did you find what you were looking for? Have you got some comments for us?