SEARCH

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารใบหยก 1 เขตราชเทวี เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดคล้ายกับเหตุการณ์ ไฟไหม้ตึก “เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์” อาคารที่พักสูง 27 ชั้น ในกรุงลอนดอน พร้อมเดินดูห้องควบคุม control และอุปกรณืดับไฟต่างๆ กทม.เดินหน้าตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่ ผู้ว่าฯ อัศวิน วอนเจ้าของอาคารติดป้ายแนะวิธีหนีไฟ (22 มิ.ย. 60) เวลา 10.30 น. : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารใบหยก 1 เขตราชเทวี ตามมาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารสูง การเฝ้าระวังเหตุ และการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นอาคารเก่าและอาคารใหม่ รวมถึงอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ซึ่งอาคารสูงบางส่วนมีการต่อเติม ดัดแปลง หรือก่อสร้างผิดแบบจากที่ได้ยื่นขออนุญาตจากกรุงเทพมหานคร จึงเสี่ยงต่อการเกิดเหตุต่างๆ อาทิ อุบัติภัย อัคคีภัย และอาคารทรุดตัวหรือร้าว ปัจจุบันอาคารใบหยก 1 ใช้ประโยชน์เป็นโรงแรม ห้องชุดพาณิชย์ (ร้านค้า) ภัตตาคาร และจอดรถยนต์ แบ่งเป็น 1.ชั้นใต้ดิน – 4 เป็นห้องชุดพาณิชย์ (ร้านค้า) 2.ชั้นที่ 5 เป็นส่วนต้อนรับของโรงแรมใบหยกสวีท 3.ชั้นที่ 6 – 10 เป็นที่จอดรถยนต์ 4.ชั้นที่ 11 เป็นห้องออกกำลังกาย และสระว่ายน้ำ 6.ชั้นที่ 12 – 42 เป็นโรงแรม (248 ห้อง) ตามใบอนุญาต ประกอบธุรกิจโรงแรม เลขที่ 53/2559 7.ชั้นที่ 43 เป็นภัตตาคาร ซึ่งทางนิติบุคคลอาคารชุดใบหยกทาวเวอร์ได้ทำการยื่นรายงานการ ตรวจสอบอาคารตามกฎหมายทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 ได้รับใบ ร.1 (ล่าสุด) เลขที่ 2078/2559 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2559 และขณะนี้ทางอาคารใบหยก 1 กำลังดำเนินการตรวจสอบประจำปี 2560 เพื่อยื่นรายงานขอใบ ร.1 ประจำปี 2560 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอาคารสูง คือ อาคารที่สูงเกินกว่า 23 เมตร หรือ 8 ชั้นขึ้นไปจำนวนมาก โดยมีทั้งอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 และหลังปี 2535 รวม 2,810 อาคาร ประกอบกับที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ตึกแกรนด์เฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเทพมหานครตระหนักถึงความปลอดภัยและมีความห่วงใยประชาชน จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจความปลอดภัยของอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้มข้นมากขึ้น โดยตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารด้านต่างๆ อาทิ มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 หรือไม่ มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือไม่ ระบบน้ำกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ป้ายบอกทางหนีไฟ ต้องมีถังดับเพลิงขนาดเล็กทุกชั้น พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครได้กำหนด 10 มาตรการ ในการป้องกันและดูแลตัวเองหากเกิดเพลิงไหม้ โดยจะขอความร่วมมือให้อาคารสูงทุกแห่งติดป้าย 10 มาตรการดังกล่าว รวมถึงอาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ด้วย สำหรับในการตรวจความปลอดภัยอาคารใบหยก 1 วันนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถึงแม้อาคารใบหยก 1 จะสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งถือเป็นอาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 แต่ตัวอาคารยังคงมีความแข็งแรง ซึ่งเจ้าของอาคารได้มีการดำเนินการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าของอาคารมีการตรวจสอบถังดับเพลิงไม่ให้หมดอายุ รวมถึงสามารถใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้กำชับให้สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดในการตรวจสอบอาคารต่างๆ รวมถึง “อาคารสูง” ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 กำหนดไว้ว่า เป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือสูงประมาณ 8 ชั้น และอาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบแจ้งเตือน และระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารให้สามารถใช้งานได้อย่างครบถ้วน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณีเพลิงไหม้ตึกแกรนด์เฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษพื้นที่กรุงเทพฯ มีอาคารสูง 2,810 อาคาร สำหรับอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,810 อาคาร แบ่งเป็น อาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,033 อาคาร และอาคารที่ปลูกสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,777 อาคาร ซึ่งที่ผ่านมา 50 สำนักงานเขต ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารและระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารภายในพื้นที่เขต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและจัดส่งรายงานให้กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ทุกปี รวมถึงสำนักงานเขต สำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันออกตรวจการประจำปี หากพบข้อบกพร่องแต่ไม่ขัดกับกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย แต่หากพบข้อบกพร่อง และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานเขตพื้นที่จะออกคำสั่งให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีมีเหตุอันควรเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้มาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารสูงก่อนประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ทั้งนี้มาตรการการตรวจสอบและบังคับใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยอาคารสูงนั้น กรณีเป็นอาคารสูงก่อนกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พิจารณาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ต้องมีรายละเอียดหลัก 6 ข้อ ได้แก่ 1.ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยกำหนดให้อาคารสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ติดตั้งบันไดหนีไฟ โดยทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ เพิ่มจากบันไดหลักภายในอาคาร เพื่อให้สามารถลำเลียงคนทั้งหมดออกมานอกอาคารได้ภายใน 1 ชั่วโมง 2.ติดตั้งแบบแปลนแผนผังอาคารแต่ละชั้นหน้าลิฟท์ทุกแห่ง และบริเวณห้องโถงทุกชั้นของอาคารให้เห็นชัดเจน โดยแสดงตำแหน่งห้องต่างๆ ทุกห้อง รวมถึงตำแหน่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง ประตูหรือทางหนีไฟของชั้นนั้นๆ อีกทั้งบริเวณชั้นล่างของอาคารต้องจัดให้มีแบบแปลนแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บรักษาไว้เพื่อการตรวจสอบโดยสะดวก 3.ติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่กำหนด โดยให้มี 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง 4.ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้ทุกชั้น ได้แก่ อุปกรณ์ส่งสัญญาณที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนอยู่ในอาคารได้ยินชัดเจน และอุปกรณ์แจ้งเตือนทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุด้วยมือ 5.ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรองและป้ายบอกทางหนีไฟ : เพื่อให้มีแสงสว่าง สามารถมองเห็นช่องทางเดินได้ขณะเกิดไฟไหม้ และมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟบริเวณด้านในและด้านนอกประตูหนีไฟทุกชั้น และ 6.ติดตั้งระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ได้แก่ เสาล่อฟ้า สายล่อฟ้า สายตัวนำ สายนำลงดิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยมาตรการดูแลความปลอดภัยอาคารสูงหลังประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 กรณีเป็นอาคารสูงหลังกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ระบบต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งสามารถจัดแบ่งเป็น 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบป้องกันภัย เช่น ใช้วัสดุทนไฟในการก่อสร้างและตกแต่งอาคาร 2.ระบบเตือนภัย เช่น ต้องมีสัญญาณเตือนภัย มี Smoke detector หรือเครื่องตรวจจับควันและเครื่องตรวจจับเปลวไฟ ฯลฯ 3.ระบบระงับภัย เช่น ต้องมีระบบสปริงเกิ้ล (sprinkle system) ปั๊มน้ำ เครื่องปั่นไฟ ถังดับเพลิง สายน้ำดับเพลิง ฯลฯ และ 4.ระบบหนีไฟ เช่น ต้องมีป้ายสะท้อนแสงบอกทางหนีไฟ มีไฟส่องสว่างฉุกเฉิน ประตูหนีไฟต้องไม่มีสิ่งของวางเกะกะกีดขวาง มีบันไดหนีไฟ รวมทั้งต้องมีการซ้อมหนีไฟ การจัดทำผังการทำงานและช่วยเหลือผู้ที่อยู่ภายในอาคาร เป็นต้นสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 10 ขึ้นไปต้องมีการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งตามกฎกระทรวง ได้กำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ดังนี้ 1.สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างปฏิบัติงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย ประกอบด้วย การตรวจตรา การอบรม การณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ และการบรรเทาทุกข์ เพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัยที่มีมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกจ้างได้รับความปลอดภัยจากการทำงาน 2.อาคารที่มีสถานประกอบกิจการหลายแห่งตั้งอยู่รวมกัน ให้นายจ้างทุกรายของสถานประกอบกิจการในอาคารนั้น มีหน้าที่ร่วมกันในการจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย 3.ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างทุกคนฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟพร้อมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งก่อนการฝึกซ้อมไม่น้อยกว่า 30 วัน นายจ้างจะต้องส่งแผนการฝึกซ้อมและดับเพลิงและอพยพหนีไฟ รวมทั้งรายละเอียดการฝึกซ้อมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกซ้อม นายจ้างต้องจัดทำรายงานผลการฝึกซ้อมยื่นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย 4.หากสถานประกอบกิจการ มีจำนวนลูกจ้างไม่ถึง 10 คน ไม่จำเป็นต้องดำเนินการจัดฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ แต่หากอาคารดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการหลายแห่งตั้งอยู่รวมกัน สถานประกอบการทุกรายมีหน้าที่ร่วมกันในการจัดให้มีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมทั้งจัดทำแผนป้องกันฯ แม้จำนวนลูกจ้างของสถานประกอบการแต่ละรายจะมีจำนวนไม่ถึง 10 คนก็ตามคำแนะนำ 10 ประการ หนีไฟอาคารสูง คอนโดมีเนียม สำนักงาน และโรงแรม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีรถดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงอาคารที่มีความสูง 90 เมตร หรือประมาณ 30 ชั้น จำนวน 6 คัน กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ขณะที่อาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขนาดความสูงเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ตรอก ซอย มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ประชาชนควรศึกษาวิธีป้องกันตนจากเหตุอัคคีภัย ได้แก่ 1.ก่อนเข้าพักอาศัยในอาคารต่างๆ ควรสอบถามความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ เช่น เครื่องป้องกันควันไฟ อุปกรณ์ฉีดน้ำอัตโนมัติบนเพดาน รวมถึงอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ และการหนีไฟ ของสถานที่นั้นๆ 2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ห้องพักที่สุด รวมถึงตรวจสอบประตูหนีไฟต้องไม่ปิดล็อค หรือสิ่งกีดขวาง โดยให้นับจำนวนประตูห้องทั้งสองทาง (ซ้าย–ขวา) จนถึงทางหนีไฟ ซึ่งจะทำให้ถึงทางหนีไฟฉุกเฉินได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน 3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู วางกุญแจห้องพักและไฟฉายใกล้กับเตียงนอน หากเกิดไฟไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ 4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เปิดสัญญาณเตือนไฟไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีออกจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง 5.หากได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าไฟไหม้ที่ใด 6.ถ้าไฟไหม้ห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที จากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงโดยเร็ว 7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดที่ห้องพักของท่าน ให้หนีออกจากห้อง โดยวางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด 8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู เพื่อป้องกันตนเองจากเปลวไฟภายนอก แต่ให้รีบโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง ถึงตำแหน่งของท่าน และหาผ้าเช็ดตัวเปียกๆ ปิดช่องประตู หรือทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่าง พร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ 9.คลานให้ต่ำ หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง ควรหาถุงพลาสติกตักเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะ จากนั้นคลานหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉิน พร้อมนำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพัก และขอความช่วยเหลือทางอื่นต่อไป และ 10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดไฟไหม้ ให้ใช้บันไดภายในอาคาร เนื่องจากลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นไฟไหม้

Your recent history

  • Recently searched

    • Recently viewed links

      Did you find what you were looking for? Have you got some comments for us?